วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีมรดก


ภาษีมรดก (Death duties)
ความหมายอย่างสั้น
ภาษีมรดก (Death duties) คือ ภาษีที่เก็บจากการขายทรัพย์สินของทายาทผู้ได้รับมรดกมา ทรัพย์มรดกที่จะต้องเสียภาษี คือ อสังหาริมทรัพย์ เรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนตร์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป และ แพ ทรัพย์สินนอกเหนือจากนี้จะไม่ต้องเสียภาษีมรดก
ความสำคัญของเรื่อง
ใครที่กำลังจะได้เป็นทายาทผู้รับมรดกตกทอด หรือผู้ที่กำลังต้องการจะทำพินัยกรรม ยกสมบัติให้แก่ทายาท ควรจะให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะจะได้ทราบว่ามีภาระด้านภาษีอย่างไร ความสำคัญของเรื่องนี้ คือ ทายาทผู้รับมรดกจากผู้ตายมา ไม่ว่ามรดกจะเป็นทรัพย์สินสิ่งใดก็ตาม ทายาทจะไม่ต้องเสียภาษีมรดกใดๆ ทั้งสิ้น จะมีภาระต้องจ่ายภาษีก็ต่อเมื่อนำทรัพย์มรดกที่ได้มาออกขายให้ผู้อื่น และเป็นทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ถ้าเป็นทรัพย์มรดกอื่นๆก็จะไม่ต้องเสียภาษี
ความหมายโดยละเอียด
ภาษีกองมรดก
เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งเสียชีวิตลง ทรัพย์สินของเขาจะต้องตกเป็นของทายาท ซึ่งอาจจะกำหนดไว้ในพินัยกรรมหรือโดยศาลมีคำสั่งพิพากษา อย่างไรก็ตามในช่วงที่ยังไม่มีการแบ่งแยกทรัพย์สินตามพินัยกรรมให้แก่ทายาทไป ทรัพย์สินนั้นก็ถือว่าเป็นกองมรดก กองมรดกนี้ไม่ต้องเสียภาษี เงินได้ ในกรณีที่ไม่มีรายได้เกิดขึ้นจากกองมรดก แต่เมื่อไรที่มีรายได้เกินกว่า 13,000 บาท กองมรดกนั้นก็จะต้องเสียภาษี โดยผู้จัดการมรดกหรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินมรดกเป็นผู้ดำเนินการเสียภาษี และเรียกภาษีนี้ว่า ภาษีกองมรดก เมื่อทรัพย์สินในกองมรดกถูกแบ่งแยกให้กับทายาทไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะไม่ต้องเสียภาษีอีก ตัวอย่าง เช่น
คุณประสานได้เสียชีวิตลง ทิ้งมรดกมูลค่ามากมายไว้ให้ภรรยาและลูก ทรัพย์มรดกในช่วงปีแรก ยังไม่ได้มีการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์ตามมรดก เพราะทายาทผู้รับมรดกถือว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแบ่งแยก ทรัพย์สินของผู้ตายจึงอยู่ในรูปของกองมรดก แต่
เนื่องจากทรัพย์สินบางส่วนในกองมรดก คือ บ้านและอาคารพาณิชย์ซึ่งได้ปลูกให้คนอยู่อาศัย และทำการค้าเช่าไป มีรายได้จากการเช่าในปีนั้นรวม 780,000 บาท ดังนั้น รายได้จากกองมรดกจำนวน 780,000 บาท จะต้องนำมาประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้
ผู้รับมรดกไม่ต้องเสียภาษี
เมื่อมีการแบ่งแยกมรดกให้แก่ทายาทแต่ละคนรับไปแล้ว ทายาทผู้ได้รับทรัพย์สินตามมรดก ซึ่งถือว่ามีเงินได้เกิดขึ้น ตามปกติผู้ที่มีเงินได้ก็จะต้องเสียภาษีให้กับรัฐ แต่ในกรณีของทายาทผู้ได้รับมรดกนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีมูลค่าสูงเพียงใดก็ตาม เป็นอันว่าได้ยิ้มชื่นหน้าระรื่นกันโดยทั่ว
ต่อมาคุณสมทรงภรรยาคุณประสานซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ได้จัดการแบ่งทรัพย์มรดก ของตนเองออกเป็นส่วนของตนเอง และลูกอีก 2 คน ซึ่งมีครอบครัวของตนเองแล้ว ในส่วนของคุณสมทรงเอง ทรัพย์มรดกที่ได้ประกอบด้วย บ้าน ที่ดิน และเครื่องเพชรพลอย อัญมณีทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 8,500,000 บาท ส่วนลูกชาย 2 คน ได้รับส่วนแบ่งเป็นอาคารพาณิชย์คนละ 4 ห้อง และ ที่ดินมูลค่าคนละประมาณ 5,000,000 บาท เมื่อแบ่งแยกทรัพย์สินและทายาทแต่ละคนได้ ครอบครองโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม ทั้งคุณสมทรงและบุตรชายอีก 2 คน ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ทรัพย์สินที่ได้มามีมูลค่าสูงมากก็ตาม ทั้งนี้เพราะกฎหมายได้มีข้อ ยกเว้นให้
อย่าเพิ่งตีปีก เพราะเมื่อถึงคราวก็จะต้องจ่ายภาษี
กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้รับมรดกทำการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกออกไป จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมูลค่าที่ขายได้ แต่ก็ยังผ่อนปรนให้เพราะกำหนดไว้เพียงว่าทรัพย์ บางอย่างเท่านั้น ที่จะต้องเสียภาษี (ตามคำจำกัดความข้างต้น) นอกเหนือจากนั้นก็ไม่ต้องเสียภาษี
ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องเสียภาษี ก็ได้มีข้อยกเว้นไว้ว่า ไม่ต้องเสีย ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ เทศบาล สุขาภิบาล หรือ เมือง พัทยา หรือการปกครองท้องถิ่นอื่น ทั้งนี้ในเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 200,000 บาท ในปีภาษีนั้น
มีคนมาขอซื้อห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์จากลูกชายคุณสมทรงซึ่งได้แบ่งขายไปคนละ 2 ห้อง ได้รับเงินมาคนละ 2,500,000 บาท จำนวนเงินที่ได้มานี้ จะต้องนำมาแสดงรายการเสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนคุณสมทรงได้ขายสร้อยข้อมือทับทิมและแหวนบุษราคัมที่ได้มรดกมาให้กับญาติไปในราคา 120,000 บาท ในส่วนนี้ คุณสมทรงไม่ต้องเสียภาษี แต่คุณสมทรงได้รับมรดกมาเป็นที่ดินหลายแปลง มีแปลงหนึ่งอยู่ที่ลำปาง แต่อยู่นอกเขตเทศบาล และสุขาภิบาล
ในจังหวัดลำปาง มีคนรู้จักมาขอซื้อ คุณสมทรงจึงขายไปในราคา 450,000 บาท ซึ่งในส่วนที่ คุณสมทรงจะต้องเสียภาษี คือ 450,000 – 200,000 = 250,000 บาท
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดข้อยกเว้นในกรณีที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายทรัพย์มรดกไว้ คือ ถ้าเป็นการให้ หรือโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้นแก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ก็ไม่ต้องเสียภาษี เช่น การโอนที่ดินให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นการให้ฟรี เป็นต้น
การนำความรู้ไปพิจารณาประยุกต์ใช้
ในปัจจุบันไทยไม่มีการเก็บภาษีมรดก และไม่คิดว่าจะมีในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตามการวางแผนเรื่องทรัพย์สมบัติให้ทายาทเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่บุตรหลานด้วย มีสิ่งสำคัญสองสิ่งที่ต้องเตรียมคือ พินัยกรรม และผู้จัดการมรดก โดยผู้จัดการมรดกนั้นควรเลือกเอาทนายความ หรือบุคคลอื่นที่ มิใช่ทายาทจะเหมาะกว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ควรอบรมสั่งสอนลูกให้ดีก่อนวางแผนแบ่งมรดกเพื่อให้เขาสามารถรักษาทรัพย์สินเหล่านั้นได้เมื่อเขาได้เป็นเจ้าของแล้ว

คำไข (Keyword) : Death duties / ภาษีมรดก / ภาษี / ภาษีอากร / ความรู้อ้างอิง / นิยามธุรกิจ
แหล่งข้อมูล : ขจร สาธุพันธุ์. (2523). การภาษีอากร. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช.
เกี่ยวกับผู้จัดทำ :
ชื่อ : นางเรวดี ช้างบุญชู
การศึกษา : เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประสบการณ์ : กองบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
งานด้านสินเชื่อและการวิจัยเพื่อการพัฒนาของธนาคารพาณิชย์ งานบริหารการเงินในธุรกิจเอกชน

ที่มา: http://www.ismed.or.th/SME2/src/upload/knowledge/117144397545d2d107bc696.pdf
Kannika Jaijit ID: 4831205223 sec.03

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้ความรู้มากมายเลยค่ะ